ข้อมูลพื้นฐาน
 
ประวัติความเป็นมา ตราสัญลักษณ์


  • ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พื้นที่ของตำบลชัยฤทธิ์คือตำบลสระเกศ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งค่ายและเป็นสมรภูมิรบ ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ (มังนราช่อ) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2119 การยกพลมาครั้งนั้นมีทั้งไพร่พลชาวหงสาวดีและชาวเชียงใหม่ ประมาณ 140,000 คน มีช่างเครื่องประมาณ 300 เชือก ม้าประมาณ 3,000 ตัว เดินทัพมาทางบกแล้วตั้งมั่นในตำบลสระเกศปากชะไว และยังมีทัพเรืออีก โดยตั้งค่ายอยู่นานถึง 4-5 เดือนเพื่อไม่ให้ชาวพระนครออกมาทำนาสะสมเสบียงอาหารได้ หมายความว่าเมื่อถอยกำลังแล้วจึงจะเข้าทำศึก

    แต่ในที่สุดทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ ก็ต้องพ่ายแก่ทัพของกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ทรงวางกลศึกอย่างรอบคอบรัดกุมสามารถปลิดชีวิตไพร่พลของพระเจ้าเชียงใหม่ได้จำนวนมาก บางส่วนก็ถอยหนีกลับไป เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่ากองทัพไทยยกทัพติดตามขึ้นไป ก็รีบถอนทัพหนีกลับไป กองทัพไทยก็ยึดค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้ และจับพยาเชียงแสนพร้อมรี้พลมาเป็นเชลยรวม 10,000 คนเศษ กับช้าง 120 เชือก ม้า 100 เศษ เรือรบและเรือเสบียงรวม 400 ลำ เครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก

    มีคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาบำเพ็ญภาวนา ณ โบสถ์วัดชัยสิทธาราม ซึ่งเดิมนั้นชื่อว่าวัดโกรกกราก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นวัดชัยสิทธาราม ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะเหนือพระเจ้าเชียงใหม่ในครั้งนั้นเอง โดยชาวเมืองต่างสันนิษฐานว่าการที่ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า 140,000 คน และช้างม้าอีกจำนวนมาก ไม่คิดจะสู้รบแต่กลับขึ้นช้างเร็วเลิกทัพหนีไป อาจเป็นเพราะด้วยฤทธานุภาพของหลวงพ่อดำ ซึ่งประดิษฐานภายในพระอุโบสถ จนเกิดเป็นตำนาน พื้นบ้านเล่าขานสืบต่อกันมาว่า "ศึกพระเจ้าเชียงใหม่จึงได้มาจากความศักดิ์สิทธิ์และฤทธานุภาพของหลวงพ่อดำในพระอุโบสถ และกฤดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" อันเป็นปฐมบทของนามอันเป็นมหามงคลทั้งตำบลชัยฤทธิ์ อันมีความหมายว่าชัยชนะที่ได้มาด้วยฤทธิ์ และวัดชัยสิทธารามคือชัยชนะที่ได้มาด้วยความศักดิ์สิทธิ์คือหลวงพ่อดำนั่นเอง